อาหารเช้ากับไข่เบเนดิกท์

ทำไมอาหารเช้า ถึงเรียกว่า Breakfast ?

ก่อนถึงกลางศตวรรษที่ 17 คนส่วนใหญ่ในยุโรป กินอาหารเพียง 2 มื้อ คือ อาหารกลางวันที่มักจะกินเวลาตั้งแต่สายจนบ่าย  กับอาหารเย็นจนดึก และเรียกมื้อหลัก ว่า Dinner อยู่ที่ว่าแถบไหนจะนิยมกินมื้อไหนเป็นมื้อหลัก แล้วจึงค่อยมีคำเรียกย่อยๆ ว่า Lunch  หรือ  Supper ในเวลาต่อมา (สังเกตการเรียกห้องรับประทานอาหารในงานออกแบบสิ ว่าใช้คำว่า Dining room ซึ่งแปลว่า ห้องกินข้าว ) ไข่เบเนดิกท์

จนกระทั่งเมื่อเข้ากลางศตวรรษที่  18 การเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้นิยามอาหารเช้าแบบเต็มรูปแบบว่า Breakfast ซึ่งมาจาก คำว่า “Break to fast”  ที่แปลง่ายๆว่า การหยุดอดอาหารที่ยาวนานในเวลากลางคืน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอังกฤษและยุโรปตอนเหนือ #breakfast

ที่มีการจัดอาหารเช้าเต็มรูปแบบสำหรับแขกที่มาพักที่บ้านและระบาดไปตามโรงแรม เพื่อเป็นการประกาศศักดาว่าตนมีฐานะร่ำรวยเป็นต้น นับแต่จากนั้น คำว่า Breakfast จึงเป็นที่นิยมและรู้จักว่าเป็นมื้อเช้า มื้อสำคัญสำหรับการเริ่มต้นวันใหม่

Egg Benedict | ไข่เบเนดิกท์

ไหนๆเล่าที่มาของคำว่า Breakfast แล้ว ขอกระแดะขอเล่าต่อด้วยอาหารเช้าแบบฝรั่งๆ ที่ชื่อว่า Egg Benedict หรือ ไข่เบเนดิกท์ เลยละกัน

จริงๆ แล้วที่มาคลุมเครือ

บ้างว่ามาจากนามสกุลของชายชื่อว่า Lemuel Benedict (เลมวล เบเนดิกต์) นายหน้าค้าหุ้นชาวนิวยอร์ควัยเกษียณที่ไม่พอใจอาหารเช้าของโรงแรม Waldorf Hotel ที่เข้าพักเมื่อปี 1894 เขาเลยสั่งเมนูใหม่โดยให้นำ “ขนมปังปิ้งทาเนย ไข่ดาวน้ำ เบคอนกรอบๆแล้วราดด้วยซอสฮอลแลนเดส” ผู้จัดการห้องอาหารถูกใจเมนูนี้มากจึงได้บรรจุลงในเมนูอาหารเข้าของที่นี่ในเวลาต่อมา*
—————————
* บทสัมภาษณ์ถูกตีพิมพ์ในปี 1942 จากนิตยสาร New Yorker

แต่ก็มีการคัดค้านจากทายาทของ ผู้การ อี.ซี. เบเนดิต์ (Commodore E.C.Benedict) ว่าเป็นสูตรของลุงตน

หรืออาจจะมีต้นกำเนิดที่ยุโรปที่ระบุถึงอาหารพื้นบ้านฝรั่งเศสชื่อ เอือฟ อาลา เบเนดิกตีน (oeufs a’ la be’ne’dictine) ซึ่งเป็นอาหารเช้าที่นักบวชนิกายเบเนดิกตีนรับประทานก็เป็นได้

หรือแม้กระทั่งการตีพิมพ์สูตรไข่เบเนดิกท์ในช่วงเปลี่ยนสู่ศตวรรษที่ 20ในหนังสือชื่อ Eggs, and how to use them ตีพิมพ์ปี 1898 ว่าด้วยเรื่อง “การปรุงไข่ในรูปแบบต่างๆ กว่า 500 แบบ”

ซึ่งลักษณะของเมนูนี้จะเห็นความเหมือนและคล้ายกัน

คือการประกอบไปด้วย

คาโบไฮเดรท ไม่ว่าจะเป็นขนมปัง อิงลิชมัฟฟิน หรือ วาฟเฟิล

ไขมัน จาก เนยในการย่างหรืออบแป้ง

โปรตีน จาก แฮม เบคอน ไส้กรอก หรือปรับเป็นเนื้อปลากุ้งหอยแล้วแต่จะสร้างสรรค์

ครีมหรือซอสฮอลแลนเดส ซึ่งประกอบไปด้วย ไข่แดง เนย น้ำส้มสายชู เกลือ และพริกไทย

เอาเป็นว่าไม่ว่า ไข่เบเนดิกท์ จะมีที่มาจากไหน แต่ล้วนแล้วถูกอ้างว่ามาจาก คำว่า “เบเนดิกท์” ทั้งสิ้น

เมนูที่ดูเหมือนง่าย แต่กลับต้องใช้ทักษะขั้นเทพ ไม่ว่าจะเป็นการทำไข่ดาวน้ำให้ได้ความสุกที่พอดี รูปแบบออกมาสวย และจะสมบูรณ์แบบเมื่อตัดออกมาแล้วมีความเยิ้มของไข่แดงมาผสมกับซอสและขนมปังที่กรอบหอม

ซอสฮอลแลนเดส คือการตีไข่ในความร้อนกับมายองเนส(เพราะมีไขมัน น้ำส้มสายชู เกลือ พริกไทย) ให้ได้สัดส่วนที่พอดีไม่ให้ไข่สุกเนื้อไข่กับครีมเข้ากันดี บางสูตรเพิ่มมัสตาสเข้าไปแล้วแต่ชอบ

เท่านี้อาหารมื้อเช้าที่มาจากวัตถุดิบพื้นฐานที่หาได้ในตู้เย็นก็ดูหรูหราให้คุณค่าและตามมาด้วยมูลค่าด้วยนะเออ…

เรื่อง / ภาพ  : jeedwonder เชฟแม่ธิชา
ข้อมูล : ตำนานอาหารโลก เบื้องหลังจานโปรดโดนใจคนทั่วโลก แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ
(What Caesar did for my salad: The secret meanings of our favourite dishes by Albert Jack)

อ่านเรื่องที่น่าสนใจ ไอเดียการตกแต่งโต๊ะอาหารในเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ ในคราวเดียว

ติดตาม jeedwonder

Leave a Reply